หลอดดูดแบบไหนดีกว่ากัน
- นักวิทยาศาสตร์เผย “หลอดกระดาษ” มีสารเคมีเป็นพิษ ที่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมไม่ต่างจาก “หลอดพลาสติก”
- เผยเหตุผลสำคัญ ที่ทำให้ “หลอดพลาสติก” ไม่ถูกนำไปรีไซเคิล
- หาคำตอบที่หลายคนสงสัย เมื่อโลกต้องลดการใช้หลอดพลาสติก ควรใช้หลอดประเภทไหนแทน ถึงปลอดภัยที่สุด
เรียกได้ว่าเป็นเรื่องที่สร้างความฮือฮาอย่างมาก เมื่อนักวิจัยชาวเบลเยียม ได้ทำการทดลองแล้วพบว่า “หลอดกระดาษ” ที่ปัจจุบันถูกนำมาใช้ทดแทนหลอดพลาสติกนั้น มีกลุ่มสารเคมีเป็นพิษ ชื่อว่า PFAS หรือ “สารเคมีตลอดกาล” ที่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมไม่ต่างจากหลอดพลาสติก เนื่องจากสารเคมีดังกล่าว ต้องใช้เวลาในการย่อยสลายยาวนานหลายพันปี อีกทั้งยังเป็นอันตรายกับคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม จึงทำให้หลายๆ คนคงเกิดคำถามว่า หากต้องลดการใช้ “หลอดพลาสติก” ที่สร้างปัญหามลพิษอย่างมากในปัจจุบัน ควรเลือกใช้หลอดประเภทไหนทดแทน ที่ปลอดภัยต่อสุขภาพตัวเอง และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
เราจึงได้รวบรวมข้อดีและข้อเสียของหลอดแต่ประเภท เพื่อให้ทุกคนได้เปรียบเทียบ และตัดสินใจเลือกใช้งานกันตามความเหมาะสม
“หลอดพลาสติก” ปัญหาขยะที่จัดการได้ยากในปัจจุบัน
แม้ในขณะนี้ทั่วโลกจะรณรงค์ ให้ทุกคนลดการใช้ “พลาสติก” เนื่องจากสร้างปัญหา ที่ส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อมเป็นวงกว้าง แต่กลับพบว่าปริมาณการใช้พลาสติกในปัจจุบัน ก็ยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และส่วนใหญ่ก็มักกำจัดไม่ถูกวิธี จนกลายเป็นปัญหาขยะพลาสติกสะสมเรื้อรัง
โดยเฉพาะขยะที่เกิดจาก “หลอดพลาสติก” อย่างเดียว มีตัวเลขคาดการณ์ว่า สร้างขยะไปประมาณ 100 ล้านชิ้นต่อวัน หรือประมาณ 3,500 ล้านชิ้นต่อปี ทั้งที่จริงๆ แล้วหลอดพลาสติกที่ใช้กันอย่างแพร่หลายนี้ เป็น พลาสติกชนิด โพลีโพรพิลีน (Polypropylene) หรือ PP ฟู้ดเกรด (Food Grade) ที่สามารถรีไซเคิลได้ แต่หลอดเหล่านี้กลับไม่ถูกนำไปรีไซเคิล เพราะมีข้อจำกัด ได้แก่
- ลักษณะของหลอด ไม่เข้ากับกระบวนการรีไซเคิลแบบปกติ เนื่องจากมีคุณสมบัติที่ก้ำกึ่ง คือ เป็นแท่งและมีความบาง แต่ถ้าม้วนกลมๆ ก็จะเกิดความหนา เป็นปัญหาเมื่อนำเข้าเครื่องบดสับ เพราะหลอดจะเข้าไปติดในเครื่องจักร
- หลอดพลาสติก มักจะมีน้ำ อาหาร ติดอยู่ตรงกลาง ทำให้หลอดสกปรก ล้างยาก สร้างความยุ่งยากให้กับกระบวนการรีไซเคิล
- แม้ระยะหลังมีการรณรงค์ไม่ใช้หลอดพลาสติก และเปลี่ยนไปใช้หลอดพลาสติกชีวภาพ (Bioplastics) มาทดแทน แต่ด้วยรูปร่าง และลักษณะที่ใก้เคียงกันจนแทบจะไม่สามารถแยกด้วยตาเปล่า ก็ยิ่งทำให้กระบวนการรีไซเคิลนั้นลำบากขึ้นอีก
เปรียบเทียบข้อดี-ข้อเสีย ของ “หลอดดูดน้ำ” ที่นำมาทดแทนหลอดพลาสติก
แน่นอนว่าเมื่อหลอดพลาสติกไม่สามารถรีไซเคิลได้ ปัญหาของขยะพลาสติก ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมก็ยังไม่ถูกแก้ไขอย่างเหมาะ การแก้ไขปัญหา โดยให้ลด หรือเลิกใช้หลอดพลาสติกในชีวิตประจำวัน ก็คงเป็นเรื่องที่ทำได้อย่างยากลำบาก
จึงทำให้เกิดการคิดค้น หลอดดูดน้ำทางเลือกใหม่ เพื่อใช้ทดแทนหลอดพลาสติก ซึ่งมีโจทย์สำคัญ คือต้องใช้งานได้อย่างปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด ส่วนใหญ่จะถูกพูดถึงอยู่ 5 ประเภท ดังนี้
1. หลอดกระดาษ
เป็นทางเลือกยอดนิยมอันดันต้นๆ ที่ร้านค้า หรือธุรกิจเครื่องดื่ม หลายๆ ร้าน เลือกใช้แทนหลอดพลาสติก ซึ่งมีข้อดีและข้อเสีย ดังนี้
ข้อดี
- เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ และสามารถย่อยสลายได้ง่าย ต่างจากหลอดพลาสติกที่อาจใช้เวลาหลายร้อยปี
- กระดาษทำจากต้นไม้ซึ่งสามารถปลูก และเก็บเกี่ยวได้อย่างยั่งยืน ซึ่งหมายความว่าหลอดกระดาษสามารถผลิตได้โดยไม่ต้องใช้ทรัพยากรที่มีจำกัด
- หลอดกระดาษมีโอกาสน้อย ที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ป่า หรือสัตว์ทะเล เนื่องจากย่อยสลายได้เร็ว หากกินเข้าโดยไม่ได้ตั้งใจก็อันตรายน้อยกว่าพลาสติก
ข้อเสีย
- โดยทั่วไปหลอดกระดาษ จะไม่ทนทานเท่ากับหลอดพลาสติก และหลอดชนิดอื่น อาจเปียก หรือเริ่มพัง หลังจากใช้งานเป็นเวลานาน ซึ่งส่งผลต่อฟังก์ชันการทำงาน และประสบการณ์ผู้ใช้
- ด้วยความทนทานของหลอดกระดาษที่มีน้อย ก็จะมีอายุการใช้งานสั้นลงไปด้วย โดยจะเริ่มเสื่อมสภาพ หากปล่อยไว้ในของเหลวนานเกินไป จึงทำให้ไม่เหมาะกับเครื่องดื่มบางประเภท
- หลอดกระดาษ มักจะมีราคาแพงกว่าหลอดพลาสติก ความแตกต่างของต้นทุนนี้ อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจ ที่ต้องพึ่งพาหลอดแบบใช้ครั้งเดียวอย่างมาก
2. หลอดสแตนเลส
สามารถพบได้บ่อยที่สุด เนื่องจากหลายคนเลือกใช้เป็นจำนวนมาก ซึ่งจะมีความปลอดภัยด้านอาหารการกิน และการนำมาใช้ดื่ม หลอดสแตนเลสแบบ food grade หรือ medical grade เป็นต้น โดยมีข้อดีและข้อเสียที่ต้องพิจารณา ดังนี้
ข้อดี
- หลอดสแตนเลสมีความทนทานสูง และใช้งานได้ยาวนาน จึงเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับการใช้ทดแทนหลอดพลาสติก
- หลอดสแตนเลสมีหลายขนาดและรูปทรง ใช้ได้กับเครื่องดื่มประเภทต่างๆ ได้หลากหลาย
- สามารถใช้ซ้ำ และนำกลับมาใช้ใหม่ เพียงแค่ต้องล้างทำความสะอาด ซึ่งจะช่วยลดการสร้างขยะพลาสติกได้
- ทำความสะอาดง่าย โดยทั่วไปแล้ว หลอดเหล่านี้สามารถล้างเหมือนกับจานได้เลย โดยใช้แปรงหลอด หรือแช่ไว้ในน้ำสบู่อุ่นๆ ก่อนทำความสะอาด
ข้อเสีย
- หลอดสแตนเลส ไวต่ออุณหภูมิและนำความร้อนได้ดี ดังนั้นจึงต้องระมัดระวัง เมื่อใช้กับเครื่องดื่มที่มีอุณหภูมิร้อน
- บางคนอาจพบว่าพื้นผิวของหลอดสแตนเลส แตกต่างจากหลอดพลาสติก หรือหลอดกระดาษ ซึ่งอาจส่งผลต่อประสบการณ์การดื่ม
- หลอดสแตนเลสมักจะมีราคาแพงกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับหลอดที่ใช้แล้วทิ้ง แม้ว่าการนำกลับมาใช้ใหม่ได้ จะทำให้คุ้มค่าในระยะยาวก็ตาม
- หลอดสแตนเลสอาจมีขนาดเทอะทะเล็กน้อย เนื่องจากไม่สามารถพับหรืองอได้ ทำให้ไม่สะดวกในการใช้งานระหว่างเดินทาง
3. หลอดแก้ว
หลอดแก้วเป็นอีกทางเลือก ที่หลายคนสนใจ เพราะนำกลับมาใช้ใหม่ได้ และมีคุณสมบัติที่ดีกว่าหลอดประเภทอื่นๆ คือ การทนความร้อนได้ดี รวมถึงคุณสมบัติอื่นๆ ดังนี้
ข้อดี
- หลอดแก้วมีความโปร่งใส ช่วยให้มองเห็นสิ่งที่อยู่ภายในได้ จึงเป็นประโยชน์สำหรับการล้างทำความสะอาด
- หลอดแก้วขึ้นชื่อในด้านความทนทาน ไม่ว่าจะเป็นความร้อน สารเคมี รวมถึงแรงดันสูง จึงมีแนวโน้มที่จะแตกหักน้อยกว่า เมื่อเทียบกับหลอดพลาสติก หรือหลอดประเภทอื่นๆ และเหมาะสำหรับคนที่ชอบดื่มเครื่องดื่มที่มีกรด เช่น น้ำอัดลม โซดา กาแฟดำ เป็นต้น
- หลอดแก้วสามารถล้างทำความสะอาดได้ง่าย โดยฆ่าเชื้อด้วยความร้อน ไอน้ำ หรือวิธีทางเคมี เพื่อให้มั่นใจในความปลอดภัย และความบริสุทธิ์ของสิ่งที่อยู่ภายใน จึงเหมาะสำหรับการใช้งานที่ต้องการสภาพแวดล้อมปลอดเชื้อ
- หลอดแก้วสามารถรีไซเคิลได้ 100% โดยการล้างนำกลับมาใช้ใหม่ หรือหลอมละลายเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์แก้วใหม่ ซึ่งช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้
- หลอดแก้วมีรูปทรง ขนาด และดีไซน์ที่หลากหลาย ช่วยให้สามารถใช้งานได้มากมายตามความต้องการ
ข้อเสีย
- แม้จะมีความทนทาน แต่หลอดแก้ว ก็เปราะบาง และแตกหักได้ หากใช้งานในทางที่ผิด หรือถูกกระแทก จึงต้องเก็บรักษาในถุง หรือกล่องที่กันแรงกระแทก
- แก้วเป็นตัวนำความร้อนที่ค่อนข้างต่ำ จึงเป็นข้อเสียในการใช้งานที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิอย่างรวดเร็ว
- หลอดแก้วมีความแข็ง และงอได้ยาก จึงจำกัดการใช้งานที่ต้องการความยืดหยุ่น หรือการดัดงอ
- นอกจากนี้ยังแนวโน้มที่จะหนักกว่าวัสดุอื่นๆ ซึ่งอาจเป็นผลเสียในการใช้งานที่คำนึงถึงน้ำหนัก
- หลอดแก้วอาจมีราคาแพงกว่าหลอดประเภทอื่นๆ หลายคนจึงไม่เลือกใช้ เพราะคิดว่าอาจจะไม่คุ้มค่ากับการดูแลรักษา
4. หลอดไม้ไผ่
เป็นหลอดที่ทำจากก้านไม้ไผ่ ซึ่งสามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ จึงเป็นหลอดทางเลือกที่เป็นธรรมชาติและยั่งยืน
ข้อดี
- หลอดไม้ไผ่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ จึงเป็นทางเลือกที่ยั่งยืน ในการลดขยะพลาสติก
- “ไม้ไผ่” เป็นหนึ่งในพืชที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก จึงกลายเป็นวัสดุหมุนเวียนได้สูง สำหรับทำการหลอด
- หลอดไม้ไผ่มีความทนทาน และสามารถใช้ซ้ำได้ โดยทำความสะอาด และนำกลับมาใช้ใหม่ได้หลายครั้ง
- นอกจากนี้หลอดไม้ไผ่ ยังมีรูปลักษณ์ที่เป็นเอกลักษณ์ และเป็นธรรมชาติ จึงเป็นตัวเลือกที่ดี สำหรับกิจการร้านค้า ที่ต้องการใช้ความเป็นมิตรต่อธรรมชาติ เพิ่มความน่าสนใจให้กับเครื่องดื่ม เพื่อดึงดูดลูกค้าได้
ข้อเสีย
- แม้ว่าหลอดไม้ไผ่จะสามารถนำมาใช้ซ้ำได้ แต่ก็อาจมีอายุการใช้งานไม่นานเท่ากับสแตนเลส หรือแก้ว
- หากไม่ได้ทำความสะอาด หรือทำให้แห้งอย่างเหมาะสม หลอดไม้ไผ่อาจทำให้เกิดเชื้อราได้ ดังนั้นจึงต้องดูแลและบำรุงรักษาเป็นพิเศษ
- บางคนอาจพบว่าหลอดไม้ไผ่ ทำให้รสชาติหรือเนื้อสัมผัสของเครื่องดื่มเปลี่ยนไป
- หลอดไม้ไผ่อาจเปราะบางกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับหลอดพลาสติก หรือโลหะ และอาจแตกหัก หรือแตกเป็นชิ้นได้ หากไม่ได้รับการดูแลอย่างระมัดระวัง
5. หลอดซิลิโคน
เป็นตัวเลือกที่ดี สำหรับคนที่ต้องใช้พกพาไปในสถานที่ต่างๆ เพราะหลอดซิลิโคน โดดเด่นในเรื่องของ การใช้วัสดุที่ยืดหยุ่น จึงทำให้สามารถพับเก็บลงกล่องเล็กได้ อีกทั้งมีข้อดีอื่นๆ ดังนี้
ชนิดนี้สามารถทนความร้อนและความเย็นได้ดี ไม่ทำปฏิกิริยากับอาหารหรือเครื่องดื่ม ไม่มีสารปนเปื้อนพลาสติไซเซอร์ (Placticizer) สามารถใช้งานได้อย่างสบายใจ
ข้อดี
- ซิลิโคนเป็นวัสดุที่ยืดหยุ่น และทนทาน หลอดประเภทนี้จึงทนต่อการโค้งงอและยืดได้ โดยไม่หักหรือแตกง่าย
- สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เป็นทางเลือกที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ช่วยลดปริมาณขยะพลาสติก
- โดยทั่วไปหลอดซิลิโคนสามารถใช้กับเครื่องล้างจานได้หรือใช้แปรงทำความสะอาดได้ง่าย จึงไม่ยุ่งยากในการบำรุงรักษา
- นอกจากนี้ หลอดซิลิโคนสามารถใช้ได้กับเครื่องดื่มร้อน หรือเย็น จึงเหมาะสำหรับคนที่ชื่นชอบเครื่องดื่มหลากหลายประเภท
ข้อเสีย
- พื้นผิวของหลอดซิลิโคน มีแตกต่างจากหลอดประเภทอื่นมาก อาจทำให้หลายคนไม่ชอบ เนื่องจากไม่คุ้นชิน
- ยืดหยุ่นของหลอดซิลิโคน อาจเป็นปัญหาสำหรับผู้ที่ชอบหลอดที่แข็ง เพื่อใช้งานเครื่องดื่มบางชนิด
- หลอดซิลิโคนอาจมีราคาสูงกว่าเมื่อเทียบกับหลอดพลาสติก แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงการนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ก็อาจเป็นทางเลือกที่คุ้มค่าในระยะยาว
จากที่กล่าวมาข้างต้นจะพบว่า “หลอด” ดูดน้ำแต่ละประเภทนั้น ก็มีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกันไป หากใครสนใจจะเปลี่ยนมาใช้เพื่อทดแทนหลอดพลาสติก เพื่อลดปัญหาขยะในปัจจุบัน ก็ขอให้พิจารณาเลือกใช้ตามความสะดวกและเหมาะสมได้เลย