“ขวด-กระป๋อง-กล่องนม-แก้ว” ดื่มหมดแล้วไปไหนต่อนะ?
หลังจากเราเข้าร้านสะดวกซื้อเพื่อมองหาเครื่องดื่มเย็น ๆ มาดับกระหาย ภาชนะบรรจุเครื่องดื่มที่ไม่หลงเหลือเครื่องดื่มใด ๆ ก็คงจะต้องถูกทิ้งลงถังขยะ ถ้าดีหน่อยก็อาจจะถูกแยกไปลงถังขยะที่เหมาะกับตัวพวกมัน แต่ส่วนมากมักจะถูกทิ้งปะปนไปกับขยะอื่น ๆ อย่างน่าเสียดายเราจึงอยากพาทุกคนมาเจาะลึกเรื่องราวของวัสดุต่าง ๆ ที่ใช้บรรจุเครื่องดื่ม ว่าแต่ละอย่างทำมาจากอะไร ถ้าจะรีไซเคิล ทำได้ไหม หรือถ้าคิดจะทิ้ง (ลงถังขยะ) กันแล้วจริง ๆ ควรทิ้งอย่างไรให้เหมาะสมเพื่อให้เจ้าบรรจุภัณฑ์เหล่านั้นถูกส่งไปเข้ากระบวนการได้ถูกต้องอย่างที่ควรจะเป็นมากขึ้น ตามไปดูกันเลย
บรรดาน้ำดื่มดับกระหายต่าง ๆ น้ำเปล่า น้ำชาเขียว น้ำผลไม้ จะถูกบรรจุไว้ในขวดพลาสติก เมื่อเราดื่มหมดแล้วขวดพลาสติกเหล่านั้นก็จะถูกทิ้งลงถังขยะ กลายเป็นหนึ่งในขยะพลาสติกที่เรามักพบเจอเสมอ ๆ และมีปริมาณมหาศาลมากเลยก็ว่าได้
ขวดพลาสติกทำมาจากอะไร
ขวดพลาสติกมีสารตั้งต้นมาจากปิโตรเลียมหรือน้ำมันดิบ ผ่านกระบวนการเคมีและเป่าขึ้นรูปเป็นขวด โดยขวดส่วนใหญ่ที่เราใช้ใส่เครื่องดื่มทั่วไป เช่น น้ำเปล่า น้ำอัดลม มักจะเป็นพลาสติกประเภท PET (สังเกตได้จากก้นขวดที่มีสัญลักษณ์รีไซเคิลหมายเลข 1) จะมีลักษณะเป็นขวดใส ๆ บาง ๆ
การนำไป ‘รีไซเคิล’
ก่อนแรกเลยคือเท/ดื่มน้ำให้หมดก่อน บีบขวดให้แบน (แนะนำให้บีบมากกว่าบิด เพราะโรงงานจะได้ดึงฉลากออกได้ง่าย) เพื่อลดพื้นที่ในการขนส่ง ทิ้งในถังขยะรีไซเคิลหรือที่ทิ้งขวด หลังจากที่ถูกเก็บขายแล้ว จะถูกส่งให้โรงงานรีไซเคิลเป็นเม็ดพลาสติกและเส้นใยโพลีเอสเตอร์
ข้อควรระวัง:
- ไม่ควรแยกฝาออกมา เพราะ 1) อาจเกิดการปนเปื้อนในขวดได้ง่าย 2) ที่โรงงานสามารถแยกฝาออกมาได้ง่ายและนำไปรีไซเคิลต่อได้เอง
- ส่วนของฉลาก สามารถแยกออกมาได้ ถ้าเรามีที่ไปให้กับมัน เช่น การใส่ใน Eco Brick แม้ว่าปกติแล้วฉลากจะไม่ถูกรีไซเคิลหรือเผาอย่างถูกสุขอนามัยก็ตาม
- ถ้าต้องเลือกดื่มจากขวดพลาสติก ควรเลือกขวดที่ใส ไม่มีสี เพราะขวดที่มีการเจือสีหรือขวดที่ถูกสกรีนลายมีอัตราการรีไซเคิลต่ำมาก ราคาขายก็ถูก จึงยากที่จะมีคนเก็บไปขายเพื่อรีไซเคิล
- โดยอุดมคติแล้ว การรีไซเคิลที่ดีคือการที่เราสามารถทำให้วัสดุหนึ่งกลับไปเป็นวัสดุเดิมได้ แต่ปัจจุบันการรีไซเคิลพลาสติก PET เพื่อนำกลับมาเป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารยังไม่ถูกยอมรับ จึงทำให้ส่วนมาก เมื่อรีไซเคิลเป็นเม็ดพลาสติกแล้ว ถ้าไม่ถูกส่งออก ก็จะนำมาทำเป็นเส้นใยโพลีเอสเตอร์ (เส้นใยสังเคราะห์ที่พบมากในเสื้อผ้า มีคุณสมบัติคือระบายอากาศได้ดี แห้งง่าย ถ้าทอละเอียดสามารถสะท้อนน้ำได้ แต่ก่อให้เกิดปัญหาไมโครพลาสติกจากการซักหรือการใช้)
การแปรรูปสารเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ ‘วน’
เราเชื่อว่ามีหลากหลายวิธีเลยที่เราจะนำขวดพลาสติกมา Reuse หรือใช้ให้คุ้ม ไม่ว่าจะเป็น ที่เก็บแปรงแต่งหน้า, ขวดเพาะต้นกล้า, บัวรดน้ำ, เอาไว้ใส่ถุงพลาสติก เป็นต้น แต่สิ่งที่เราไม่แนะนำคือการนำขวดพลาสติกที่ผ่านการใช้งานมาแล้วไปใส่น้ำดื่มซ้ำอีก เพราะอาจมีการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียได้ จากการเปิดขวดและอากาศที่เข้าไป
นอกจากนี้ขวดพลาสติกบางประเภทจะมีความเปราะบาง ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อผ่านการทำความสะอาดหลาย ๆ ครั้ง จึงอาจมีการบุบชำรุดระหว่างทำความสะอาด มีโอกาสที่เชื้อโรคและแบคทีเรียจะเข้าไปสะสมอยู่ในขวดได้ง่าย
“กระป๋องอะลูมิเนียม”
น้ำอัดลมสุดซ่าหรือกาแฟรสชาติต่าง ๆ จะถูกบรรจุมาในรูปแบบของกระป๋องอะลูมิเนียม หลายคนไม่รู้ว่าอะลูมิเนียมมีดีมากกว่าแค่น้ำหนักเบา แช่แล้วเย็นเร็วไม่ต้องรอนาน (บางทีแค่วางไว้ในห้องแอร์ ก็ยังเย็นชื่นใจ) แต่ยังจัดว่าเป็นตัวแทนของบรรจุภัณฑ์ที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม และมีส่วนช่วยเรื่องการลดปัญหาขยะจากบรรจุภัณฑ์ได้อย่างชัดเจน เพราะสามารถส่งกลับไปรีไซเคิลได้แบบ 100% เพียงแค่แยกกระป๋องออกจากขยะอื่น ๆ ให้เรียบร้อยเท่านั้นเอง
“กระป๋องอะลูมิเนียม” ทำมาจากอะไร
ปัจจุบันนี้กระป๋องเครื่องดื่มส่วนใหญ่ทำมาจากอะลูมิเนียม โลหะมันวาว น้ำหนักเบา เป็นวัสดุสุดมหัศจรรย์ที่สามารถส่งเข้าขั้นตอนการรีไซเคิลเพื่อหลอมให้กลายเป็นกระป๋องใบใหม่ได้อย่างสมบูรณ์และใช้ซ้ำต่อได้ไม่รู้จบ ยิ่งเราช่วยกันใช้กระป๋องอะลูมิเนียมแล้วส่งไปรีไซเคิล ก็จะยิ่งช่วยลดกระบวนการผลิตอะลูมิเนียมขึ้นมาใหม่ = ช่วยลดการใช้พลังงานในการผลิต = ลดมลพิษ = ลดภาวะโลกร้อน เรียกได้ว่าเป็นวัสดุที่น่าสนใจมาก ๆ
การแปรรูปสารเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ ‘รีไซเคิล’
บอกเลยว่าบรรจุภัณฑ์นี้ง่ายมาก แค่เทน้ำด้านในทิ้งให้หมด บีบหรือเหยียบกระป๋อง แล้วก็ทิ้งลงถังขยะรีไซเคิลหรือจุดรับกระป๋องอะลูมิเนียมได้เลย ด้วยราคารับซื้อที่สูงมาก ทำให้การถูกเก็บไปขายเพื่อรีไซเคิลก็เกิดขึ้นเยอะตาม
จุดที่น่าสนใจ:
- กระป๋องอะลูมิเนียมสามารถหลอมกลับมาเป็นกระป๋องอะลูมิเนียมใหม่ได้ภายใน 60 วัน (ถ้าทิ้งถูกที่) โดยไม่เสียคุณภาพ (น่าสนใจที่ในไทยเราสามารถรีไซเคิลได้ครบวงจรโดยไม่ต้องส่งออก (อ่านเพิ่มได้ที่ https://littlebiggreen.co/blog/can-to-can-journey)
- มีสีสัน ลวดลาย และบอกรายละเอียดของเครื่องดื่มได้โดยไม่ต้องมีฉลากเพิ่ม = ไม่มีขยะที่จัดการไม่ได้
- ขึ้นชื่อว่าโลหะเหมือนกัน แต่เงื่อนไขการรีไซเคิลต่าง กระป๋องเหล็ก ดีบุก สังกะสี มักขายได้ราคาถูกกว่า มีโอกาสเกิดสนิมซึ่งทำให้มีเนื้อวัสดุหายไปก่อนถูกรีไซเคิล สังเกตได้จากก้นกระป๋อง ถ้าเป็นอะลูมิเนียมจะเว้าเข้า (ดูวิธีแยกเพิ่มเติมได้ที่ https://littlebiggreen.co/blog/typesofcans)
การแปรรูปสารเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ “กล่องกระดาษเคลือบ”
บรรจุภัณฑ์ที่ถูกพัฒนามาเพื่อตอบโจทย์ในเรื่องการควบคุมคุณภาพของนมให้สามารถอยู่ได้นานขึ้นโดยไม่ต้องแช่เย็น หลายคนอาจเข้าใจว่ากล่องกระดาษเคลือบนั้นดีต่อสิ่งแวดล้อม เพราะผลิตมาจากกระดาษ แต่จริง ๆ แล้ว เจ้ากล่องนี้มีความซับซ้อนมากกว่าที่ตาเห็น
“กล่องกระดาษเคลือบ” ทำมาจากอะไร
กล่องกระดาษเคลือบที่นิยมใช้กันในตลาดมี 2 แบบ ได้แก่ “กล่องนม UHT” (แบบไม่ต้องแช่เย็น และสามารถเก็บได้นาน) มีส่วนประกอบ 6 ชั้น (เรียงจากชั้นนอก -> ชั้นใน) คือ
1) พลาสติก PE
2) กระดาษ
3) พลาสติก PE (ทำหน้าที่เป็นกาว)
4) อะลูมิเนียมฟอยล์ (ป้องกันอากาศและแสงแดด)
5) พลาสติก PE (ทำหน้าที่เป็นกาว) และ
6) พลาสติก PE เป็นส่วนประกอบ
ส่วน “กล่องนมพาสเจอร์ไรซ์” (ต้องแช่เย็น และมีอายุสั้น) มีกระดาษและพลาสติก เป็นส่วนประกอบเท่านั้น บางแบบมีฝาพลาสติกเพิ่มขึ้นมาด้วย บางแบบมีติดซองพลาสติกและหลอด โดยบริษัทผู้ผลิตรายใหญ่กล่าวว่าบรรจุภัณฑ์นี้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพราะวัสดุส่วนใหญ่เป็นวัสดุหมุนเวียนหรือ Renewable materials เช่น พลาสติกจากอ้อย กระดาษจากแหล่งปลูก และยังมีน้ำหนักที่เบา รูปร่างที่เป็นมิตรกับการขนส่งมากกว่าบรรจุภัณฑ์อื่น ๆ
การแปรรูปสารเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ ‘รีไซเคิล’
ก่อนทิ้ง ควรเสียบหลอดกลับเข้าไปในกล่อง เพื่อไม่ให้เป็นขยะชิ้นเล็กหลุดลอดไปที่อื่น ตามปกติแล้ว พลาสติก กระดาษ และอะลูมิเนียม รีไซเคิลได้เมื่ออยู่แยกกัน เลยเกิดปัญหาขึ้น เพราะเจ้ากล่องกระดาษเคลือบนี้ ทั้ง 3 วัสดุถูกเชื่อมติดกัน ในบางพื้นที่ในบางประเทศ การรีไซเคิลกล่องกระดาษเคลือบเป็นไปได้ในการทำออกมาเป็นวัสดุใหม่ เช่น แยกเยื่อกระดาษไปรีไซเคิลต่อ แล้วเหลือส่วนผสมของพลาสติก-อะลูมิเนียม แต่อย่างไรก็ตาม มันเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะทำให้กล่องในมือวันนี้กลับมาเป็นอีกกล่องหนึ่ง หรือแยกวัสดุแต่ละอย่างออกมา สำหรับประเทศไทย ราคาในการรับซื้อกล่องเหล่านี้มีราคาเท่ากับ 0 บาท เพราะฉะนั้นด้วยการจัดการทิ้งแบบปกติ กล่องเหล่านี้จะไม่ถูกนำไปรีไซเคิล แถมยังย่อยสลายเองไม่ได้อีกด้วย
การแปรรูปสารเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ ‘วน’
ถ้าจำเป็นต้องใช้ ลองใส่ไอเดียนำไปใช้ซ้ำให้คุ้มค่า เช่น กระถางต้นไม้, กล่องใส่ดินสอ เสื่อ หมวก เป็นต้น หรือถ้าเพื่อน ๆ สามารถเก็บรวบรวมกล่องที่สะอาดได้ สามารถนำไปเข้าโครงการ “หลังคาเขียวเพื่อมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก” ที่นำไปทำเป็นหลังคา หรือ โครงการ “กล่องยูเอชที รีไซเคิลได้” ที่จะย่อยส่วนกระดาษออกมาเป็นกระดาษเอกสารทำสื่ออักษรเบรลล์สำหรับมอบให้ผู้พิการทางสายตา เป็นต้น โดยนำกล่องที่ดื่มหมดแล้วหรือเทเครื่องดื่มออกให้หมด ล้างทำความสะอาดให้เรียบร้อย ตากให้แห้ง แกะหูข้างกล่องและก้นออก บีบให้แบนราบ หรือตัด-แกะออกให้เป็นแผ่นสี่เหลี่ยม ทำความสะอาดแล้วส่งไปยังจุดรับบริจาคกล่องกระดาษเคลือบโดยเฉพาะ
“ขวดแก้ว”
บรรจุภัณฑ์ที่ใช้ใส่เครื่องดื่มมายาวนาน เพราะแก้วเป็นวัสดุที่สะอาดและปลอดภัย ซึ่งเหล่าน้ำอัดลม เครื่องดื่มวิตามิน เกลือแร่ รวมถึงเครื่องดื่มบำรุงสุขภาพ ตามท้องตลาดก็จะถูกบรรจุอยู่ในขวดแก้วรูปทรงและขนาดต่างกัน
“ขวดแก้ว” ทำมาจากอะไร
ทำมาจากซิลิกาซึ่งมีอยู่ในทรายเนื้อละเอียดผสมกับโซดาแอช หินปูน และเศษแก้ว (ช่วยให้ใช้ความร้อนน้อยลง ประหยัดวัตถุดิบใหม่ด้วย) แก้วเป็นวัสดุที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ แต่ขวดแก้วสามารถนำมารีไซเคิลหลอมขึ้นรูปใหม่ได้
การแปรรูปสารเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ ‘วน’
แนะนำให้เลือกขวดแก้วเนื้อดี เนื้อหนา และยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์มาใช้งานวนไปเรื่อย ๆ ได้เลย ไม่ว่าจะเอาไปใส่เมล็ดธัญพืช ใส่ยาสีฟันอัดเม็ดเวลาไปใช้บริการที่ร้านรีฟิล ดัดแปลงเป็นของตกแต่งบ้านเก๋ ๆ อย่างโคมไฟ สวนขวด สิ่งที่ต้องระมัดระวัง คือ ต้องล้างให้สะอาด และอย่าให้ขวดแก้วถูกกระแทกแตก หรืออีกวิธีง่าย ๆ คือ เลือกเครื่องดื่มขวดแก้วแบบใช้ซ้ำ ที่ต้องส่งคืนโรงงานนั่นเอง
การแปรรูปสารเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ ‘รีไซเคิล’
ขวดแก้วนับว่าเป็นวัสดุที่รีไซเคิลได้ 100% เช่นเดียวกันกับอะลูมิเนียม โดยก่อนทิ้งให้เทน้ำหรือทำความสะอาดขวดแก้วให้เรียบร้อย ทิ้งใส่ถังขยะรีไซเคิล หลังจากนั้น ขวดจะถูกแยกตามสี (ราคารับซื้อแต่ละสีไม่เท่ากัน) ขวดแก้วที่สภาพสมบูรณ์ดี ไม่แตกบิ่นหรือเสียหาย จะถูกนำกลับเข้าโรงงานเพื่อนำไปล้างให้สะอาดและนำกลับมาใช้ใหม่ สำหรับในส่วนของเศษแก้วที่แตก หรือขวดที่แตกหัก บิ่นชำรุดเสียหายจะถูกนำมาคัดแยกสี ได้แก่ ขวดแก้วใส ขวดแก้วสีชา และขวดแก้วสีเขียว เพื่อส่งไปเข้ากระบวนการรีไซเคิล บดละเอียด กัดสี ส่งต่อไปยังโรงงานผลิตขวดแก้วเพื่อหลอมให้กลายเป็นแก้วใหม่ต่อไป
สรุปแล้ว เวลาเราจะเลือกเครื่องดื่มชนิดหนึ่ง นอกจากเลือกว่าอยากดื่มอะไรแล้ว อยากฝากให้คิดเพิ่มว่า เราจะเลือกเครื่องดื่มที่อยู่ในวัสดุแบบไหนดีนะ เพราะถึงเราจะดื่มแค่ชั่วครู่เดียว แต่ในด้านผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจะอยู่ไปอีกนาน มีหลายปัจจัยให้นึกถึง คือ การปล่อยก๊าสเรือนกระจก ที่มาและที่ไปของวัสดุ ซึ่งเมื่อคิดในภาพรวมแล้ว อาจนึกถึงการนำกลับมาใช้ใหม่โดยไม่เปลืองทรัพยากรและไม่กระทบกับสิ่งมีชีวิตอื่นบนโลก เราอาจจะเรียงความน่าหยิบได้ดังนี้
1. กระป๋องอะลูมิเนียม ทั้งน้ำหนักเบา สามารถรีไซเคิลได้เรื่อย ๆ 100% และการรีไซเคิลยังลดพลังงานที่ต้องใช้ไปได้ถึง 95% เมื่อเทียบกับการผลิตจากแร่ Bauxite
2. ขวดแก้ว ถึงแม้ว่าจะมีน้ำหนักมาก แต่สามารถรีไซเคิลได้ 100% เช่นกัน และยังเป็นวัสดุที่เป็นมิตรกับธรรมชาติอีกด้วย
3. ขวดพลาสติก (เลือกแบบไม่มีสี ไม่สกรีน ไม่แปะฉลากด้วยกาว) ถึงจะผลิตจากวัตถุดิบที่ใช้แล้วหมดไป มีส่วนประกอบเป็นพลาสติกหลายประเภท ถูกออกแบบมาให้ใช้ครั้งเดียว แต่ยังพอมีทางไปต่อในการรีไซเคิลและแปรรูป และด้วยน้ำหนักที่เบา ทำให้ใช้พลังงานไม่มากนักในการขนส่ง
4. กล่องกระดาษเคลือบ ถึงจะผลิตจากวัสดุหมุนเวียนก็ยังใช้ทรัพยากรในการปลูก/สร้างขึ้นมา แถมไม่มีทางไปต่อที่เหมาะสมให้อีกด้วย
แต่อย่างไรก็ตาม เรายังยืนยันคำเดิมว่า การบริโภคที่ยั่งยืนที่สุดคือการลดและใช้ซ้ำ ถ้าเป็นไปได้ ลองพกกระบอกน้ำหรือแก้วส่วนตัวกันนะ